จำนอง คืออะไร

จำนอง คือ การที่บุคคลหนึ่งเรียกว่า “ผู้จำนอง” เอาอสังหาริมทรัพย์ที่ตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เช่นที่ดิน หรือทรัพย์ที่กฎหมายอนุญาตให้จำนองได้ ไปจดจำนองไว้กับบุคคลหนึ่งเรียกว่า “ผู้รับจำนอง” เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ โดยที่ผู้จำนองไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวให้กับผู้รับจำนอง

ตัวอย่างเช่น นายเอกู้เงินจากนายบีเป็นจำนวนเงิน 5 แสนบาท โดยใช้ที่ดินของตนเองจำนวน 1 แปลงไปจดทะเบียนจำนองต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้เงินกู้จำนวน 5 แสนบาท โดยนายเอไม่ต้องส่งมอบที่ดินให้กับนายบี และนายเอยังคงมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์จากที่ดินของตนเองได้ตามปกติ

การจดจำนองสามารถจดจำนองกับผู้รับจำนองเพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ของตนเอง หรือเพื่อเป็นการค้ำประกันการชำระหนี้ของบุคคลอื่นก็ได้

หลักเกณฑ์การจำนอง

  • ผู้จำนองต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในทรัพย์ที่จะจดจำนอง
  • การทำสัญญาจดจำนองต้องทำเป็นหนังสือและนำไปจดทะเบียนต่อหน้าเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นสัญญาจำนองจะตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันต่อคู่สัญญาแต่อย่างใด
  • กรณีที่ผู้กู้ได้นำโฉนดที่ดินของตนเองมอบไว้ให้กับผู้ให้กู้เก็บรักษาไว้เฉยๆโดยไม่มีการทำหนังสือสัญญา และไม่ได้ไปจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ กรณีเช่นนี้ไม่ใช่การจำนอง และผู้ให้กู้ไม่มีสิทธิใดๆในโฉนดนั้น เหมือนเก็บกระดาษเปล่าไว้ในครอบครองเท่านั้น ดังนั้น ถ้าผู้ให้กู้ต้องการจะให้เป็นการจำนองตามกฎหมาย จะต้องทำเป็นหนังสือสัญญาและจดทะเบียนต่อหน้าเจ้าหน้าที่เท่านั้น
  • การไปจดทะเบียนจำนองต่อเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจรับจดทะเบียน กล่าวคือ – ที่ดินมีโฉนดต้องนำไปจดทะเบียนที่กรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร (สาขา) หรือสำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัด (สาขา) ซึ่งที่ดินนั้นต้องอยู่ในเขตอำนาจ – ที่ดินไม่มีโฉนด ได้แก่ที่ดิน น.ส.3 ต้องไปจดที่ทำอำเภอ ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ในเขตอำนาจ – การจำนองเฉพาะบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างไม่รวมที่ดิน ต้องไปจดทะเบียนจำนองที่อำเภอ – การจำนองสัตว์พาหนะหรือแพ ต้องไปจดทะเบียนที่อำเภอ – การจำนองเรือต้องไปจดทะเบียนจำนองที่กรมเจ้าท่า – การจดทะเบียนเครื่องจักรต้องไปจดทะเบียนที่กระทรวงอุตสาหกรรม

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น